ที่เที่ยวโดดเด่น

ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจังหวัดปัตตานี
                
 
ศาลเจ้าแม่ล้ำก่อเหนี่ยว   หรือเรียกว่าศาลเจ้าเล่งจูเกียง  ที่เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และมีผู้เคารพศรัทธามากราบไหว้ของพรอย่างคับคั่งในแต่ละวัน  ตำนานเล่าว่า ลิ้มกอเหนี่ยวนั้น เป็นสาวชาวจีนจากเมืองฮกเกี้ยน ซึ่งเกิดในช่วงสี่ร้อยถึงห้าร้อยปีมาแล้ว  นางเดินทางลงเรือสำเภามายังเมืองปัตตานี  เพื่อตามหาพี่ชายชื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยมให้กลับไปหามารดาที่ชราภาพที่บ้านเกิด  แต่ได้พบความจริงว่า พี่ชายของตนได้แต่งงานกับธิดาพระยาตานีแล้วเข้ารับราชในจวนเจ้าเมืองและได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม  จึงไม่สามารถกลับไปยังเมืองจีนพร้อมนางได้ ลิ้มกอเหนี่ยวจึงได้ผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์  ดังสัจจะวาจาที่กล่าวไว้กับมารดาว่า หากตามพี่ชายกลับไปหามารดาไม่ได้  จะไม่ขอมีชิวิตอยู่อีกต่อไป  ลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นพี่ชายจึงได้ฝังศพของนาง ไว้ที่ฮวงซุ้ยที่หมู่บ้านกรือเซะนอกเมืองปัตตานี  กล่าวขานกันว่า ดวงวิญญาณของนางได้แสดงอิทธิฤทธิ์เป็นที่เลื่องลือในหมู่ชาวบ้านทั่วไป  พอมีผู้มาขอพระให้มีโชคลาภก็ได้ผลหรือแม้แต่การค้าขายที่ซบเซาหรือขาดทุนก็กลับรุ่งเรืองขึ้น  จนทำให้เกิดความนับถือศรัทธาอย่างมาก  ชาวปัตตานีจึงได้นำต้นไม้ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตาย  มาแกะเป็นรูปบูชาและสร้างศาลเจ้าขึ้นสักการะ

            ภายหลังเมื่อชื่อเสียงของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเลื่องลือออกไป  ทำให้ชาวปัตตานีแห่กันมากราบไหว้ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมากขึ้น จึงมีการอัญเชิญรูปเจ้าแม่จากศาล กรือแซะที่อยู่ห่างไกลนั้น  มาไว้ที่ศาลเจ้าซูก๋ง กลางเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นที่ตั้งในปัจจุบันและได้ตั้งชื่อศาลแห่งนี้ใหม่ว่า ศาลเจ้าเล่งจูเกียง แต่ชาวบ้านยังคงเรียกศาลแห่งนี้ว่า ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวอย่างแพร่หลาย

สถานที่ตั้ง

          ถ.นาเกลือ  ต.อาเนาะรู  อ.เมือง  จ.ปัตตานี

ความเชื่อและวิธีการบูชา

          เชื่อกันว่าเจ้าแม่นั้นมีอิทธิฤทธิ์และความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่งของคนทั้งหลาย  ดวงวิญญาณของเจ้าแม่จะช่วยดลบันดาลให้การค้าขายนั้นมีแต่ความร่ำรวย  และเจริญรุ่งเรือง  มีโชคมีลาภทำให้มีบรรดาพ่อค้า นักธุรกิจและประชาชนทั่วไปนิยมมาบวงสรวงเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน
 
เทศกาล งานประเพณี

            ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์)   จะมีประเพณีการแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไปตามถนนสายต่างๆ ภายในตัวเมืองปัตตานี  มีการทำพิธีลุยไฟบริเวณหน้าศาล  ซึ่งมีผู้ที่เคารพศรัทธามาร่วมงานเป็นจำนวนมากทุกปี

วันและเวลาเปิด ปิด

            เปิดให้สักการะทุกวัน  ตั้งแต่ 05.30 -17.30 น.
มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี
มัสยิดกลางปัตตานี ที่ตั้ง : อยู่บนถนนสายยะรัง-ปัตตานี อ. เมือง
เป็น ศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจของชาวไทยมุสลิมภาคใต้  สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2497 ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 9 ปี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2506 สถาปัตยกรรมของมัสยิดนี้คล้ายพระราชวังทัชมาฮาลในอินเดีย ตัวอาคารมีโดมขนาดใหญ่เป็นศูนย์กลาง มีโดมบริวารตั้งอยู่โดยรอบทั้งสี่ทิศ ภายในเป็นโถงกว้าง ด้านหน้ามีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่
 มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ถนนยะรัง ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี เลขทะเบียนที่ 249 มีประวัติและความเป็นมาดังนี้
ในปีพุทธศักราช 2497 รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของศาสนาอิสลามว่าเป็นศาสนาที่ประชาชนชาว ปัตตานีส่วนใหญ่นับถืออย่างเคร่งครัดอันจะนำมาซึ่งสันติสุข ประกอบกับในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม (มุสลิม) เป็นจำนวนมาก สมควรสร้างมัสยิดกลางที่มีขนาดใหญ่ และสวยงามขึ้นเพื่อเป็นศรีสง่าแก่ชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามทั่วประเทศตลอด จนเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ ของชาวไทยมุสลิม จึงได้พิจารณาพื้นที่บริเวณริมถนนหลวงสายปัตตานี-ยะลา ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ 55 ตารางวา คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติงบประมาณสำหรับการก่อสร้างมัสยิดกลางปัตตานีขึ้น โดย ฯพณฯ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นได้เดินทางมาวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2500 เวลา 10.00 น.

  
                   มัสยิดกลางแห่งนี้ใช้เวลาในการก่อสร้างและตกแต่งอย่างวิจิตรพิสดารเป็นเวลา 9 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2506 ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้เดินทางมาประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการและมอบ มัสยิดแห่งนี้ให้แก่ชาวไทยมุสลิมจังหวัดปัตตานี โดยให้ตั้งชื่อว่า “มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี”

                มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีสร้างเป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น รูปทรงคล้ายกับ “ทัชมาฮาล” ประเทศอินเดีย ตรงกลางเป็นอาคารมียอดโดมขนาดใหญ่และมีโดมบริวาร 4 ทิศ มีหอคอยอยู่สองข้างสูงเด่นเป็นสง่า บริเวณด้านหน้ามัสยิดมีสระน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ภายในมัสยิดมีลักษณะเป็นห้องโถง มีระเบียงสองข้าง ภายในห้องโถงมีบัลลังก์ทรงสูงและแคบเป็นที่สำหรับ “คอฏีบ” ยืนอ่านคุฏบะฮ์ในการละหมาดวันศุกร์ หอคอยสองข้างนี้เดิมใช้เป็นหอกลางสำหรับตีกลอง เป็นสัญญาณเรียกให้มุสลิมมาร่วมปฏิบัติศาสนกิจ ต่อมาใช้เป็นที่ติดตั้งลำโพง เครื่องขยายเสียงแทนเสียงกลอง ปัจจุบันขยายด้านข้างออกไปทั้ง 2 ข้าง และสร้างหอบัง (อะซาน) พร้อมขยายสระน้ำและที่อาบน้ำละหมาดให้ดูสง่างามยิ่งขึ้น ภายในมัสยิดประดับด้วยหินอ่อนอย่างสวยงาม


                     - เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อพบปะเยี่ยมเยียนผู้นำศาสนาอิสลามและประชาชน ณ มัสยิดกลางปัตตานี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายสัมพันธ์ ทองสมัคร) ให้ดำเนินการบูรณะปรับปรุงอาคารมัสยิดกลางปัตตานี
กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองศิริราชสมบัติเป็นปีที่ 50 ใน พ.ศ.2539
                     - วันที่ 11 พฤศจิกายน 2536 ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี (นายพลากร สุวรรณรัฐ) ได้ลงนามคำสั่งจังหวัดปัตตานี ที่ 1627/2536 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อประสานและติดตามงานต่อเติมอาคารมัสยิดกลางปัตตานี จำนวน 12 คน
                     - วันที่ 17 ธันวาคม 2536 เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ประกอบด้วย สถาปนิก และนายช่างโยธา ได้มาสำรวจอาคารมัสยิดกลางเพื่อออกแบบปรับปรุงต่อเติม
                     - วันที่ 22 ธันวาคม 2536 ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายปราโมทย์ สุขุม ได้เชิญ นายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายสวัสดิ์ แก้วสมบูรณ์ ผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี นายนิเดร์ วาบา ดาโต๊ะยุติธรรมประจำจังหวัดปัตตานี นายอับดุลวาฮับ อับดุลวาฮับ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี นายนิเล็ก สุไลมาน เทศมนตรีเมืองปัตตานี เพื่อร่วมประชุมวางแผนการบูรณะขยายอาคารมัสยิดกลางปัตตานี ซึ่งที่ประชุมได้มติ ดังนี้
                1. บูรณะและขยายอาคารให้ยึดรูปแบบเดิม
                2. ขยายและต่อเติมอาคารออกทั้ง 2 ข้าง
                3. เพิ่มหออะซาน 2 หอ
                4. ใช้วัสดุที่ได้มาตรฐานผลิตในประเทศไทย
                     - วันที่ 19 เมษายน 2537 กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้กรมการศาสนา เป็นผู้ออกแบบและกำหนดงบประมาณ ในการบูรณะต่อเติมเป็นเงิน 35,212,000 บาท (สามสิบห้าล้านสองแสนหนึ่งหมื่นสองพันบาทถ้วน) คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติตามหนังสือที่ สร 0202/10614 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2537 ให้กระทรวงศึกษาธิการเสนอแปรญัตติ เพื่อของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2538 จำนวน 12 ล้านบาท และส่วนที่เหลือให้เป็นงบประมาณผูกพันในปี 2539 และปี 2540 แต่ปรากฏว่าในปีงบประมาณ 2538 ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแต่อย่างใด

                จากการติดตามการจัดตั้งงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ ได้ตั้งงบประมาณในปี 2539 เป็นเงิน 30 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2540 เป็นเงิน 5.212 ล้านบาท และจากการประสานงานทราบว่า สำนักงบประมาณได้ตั้งงบประมาณปรับปรุงสิ่งก่อสร้างเพียง 4,601,100 บาทเท่านั้น
                จังหวัดได้มีหนังสือถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (นายบรรหาร ศิลปอาชา) ผู้นำฝ่ายค้าน (นายชวน หลีกภัย) ผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี (นายมุข สุไลมาน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา) และอธิบดีกรมการศาสนา เพื่อให้การสนับสนุนในการขอแปรญัตติงบประมาณให้ได้ 30 ล้านบาทในปี 2539 เพื่อจะได้บูรณะต่อเติมมัสยิดกลางให้แล้วเสร็จสมบูรณ์
                     - วันที่ 14 กันยายน 2546 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ เสด็จพระราชดำเนินพระราช ทานรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศการประกวดการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกรุอ่านแห่งประเทศไทย ณ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ผู้ชนะเลิศฝ่ายชาย คือ นายสุกรี บันบา ผู้แทนจากจังหวัดนครนายก รองชนะเลิศอันดับ 1 นายอาหามะ กาแว ผู้แทนจากจังหวัดกระบี่ รองชนะเลิศอันดับ 2 นายอุสมาน โต๊ะอาลี ผู้แทนจากจังหวัดยะลาและผู้ชนะเลิศฝ่ายหญิง คือ นางสาวฮาวา หมัดหมุด ผู้แทนจากจังหวัดเพชรบุรี รองชนะเลิศอันดับ 1 นางซามีฮะ ตะโล๊ะดิง ผู้แทนจากจังหวัดปัตตานี รองชนะเลิศอันดับ 2 นางมัยดีนา สว่างลิขิต ผู้แทนจากจังหวัดยะลา

                มัสยิดกลางปัตตานีส่วนใหญ่จะใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ (ละหมาด) วันละ 5 เวลา เป็นกิจวัตรประจำวัน ใช้ในการละหมาดวันศุกร์ และการละหมาดในวันตรุษต่าง ๆ โดยมีชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ปัตตานี และพื้นที่อื่นทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในวันศุกร์และวันเสาร์ จะมีการบรรยายธรรมะมีผู้เข้าฟังการบรรยาย ประมาณครั้งละ 3,000 คน เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในหลักการของศาสนา และเพื่อความถูกต้องในการบำเพ็ญศาสนกิจ


มัสยิดกรือเซะ

มัสยิดกรือเซะ  
มัสยิด กรือเซะ ตั้งอยู่ที่บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมือง ประมาณ 7 กม.เป็นมัสยิดเก่าแก่ อายุกว่า 200 ปี เป็นศาสนสถาน ที่สร้างขึ้น ในพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยอยุธยา ลักษณะการก่อสร้างเป็นแบบเสากลม รูปลักษณะแบบเสาโกธิกของยุโรป ช่องประตูหน้าต่างมีทั้งแบบโค้ง แหลมและโค้งมน ส่วนที่สำคัญที่สุด คือ หลังคาโดม ซึ่งยังสร้างไม่แล้วเสร็จ บริเวณด้านหน้าของมัสยิดมีฮวงซุ้ย หรือสุสานที่ฝังศพของ เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ได้รับการตกแต่งพูนดินใหม่ปรากฏอยู่ มีผู้คนไปกราบไหว้กันมากพร้อมด้วยสิ่ง- ก่อสร้างอื่น ๆ เช่น เก๋งจีน โอ่งน้ำสีแดง (ซึ่งจุน้ำได้ถึง 120,000 ลิตร) มัสยิดกรือเซะนี้ สร้างโดยลิ้มโต๊ะเคี่ยม ซึ่งเป็นชาวจีนได้มาแต่งงานกับธิดาพระยาตานีและได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิส ลาม ต่อมาน้องสาวของลิ้มโต๊ะเคี่ยมชื่อลิ้มกอเหนี่ยว ได้ลงเรือสำเภามาตามให้พี่ชายกลับ เมืองจีนแต่ไม่สำเร็จ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้สร้างมัสยิดกรือเซะขึ้น ลิ้มกอเหนี่ยวจึงได้สาปแช่ง ขออย่าให้สร้าง มัสยิดสำเร็จ และตัวเองได้ผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้จัดการฝังศพน้องสาวไว้ที่หน้ามัสยิดนี้ ชาวปัตตานีนำต้นไม้ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตายมาแกะเป็นรูปบูชาและสร้างศาล เจ้า ต่อมาได้มีการ อัญเชิญเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมาประดิษฐานไว้ ณ ศาลเจ้าแห่งใหม่ ตั้งอยู่ที่ถนนอาเนาะรู ในเขตเทศบาล เมืองปัตตานี เรียกว่าศาลเจ้าเล่งจูเกียง ( ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) เป็นที่นับถือของชาวปัตตานี และชาวจังหวัด ใกล้เคียง ในเดือน 3 ของทุกปี ( กุมภาพันธ์-มีนาคม ) จะมีพิธีเซ่นไหว้และแห่เจ้าแม่ นับว่าเป็นพิธีที่สนุกสนานมาก ส่วนมัสยิดกรือเซะก็เป็นไปตามคำสาป เพราะไม่สามารถสร้างเสร็จได้ เมื่อจะสร้างต่อก็ให้มีอาเพศฟ้าผ่าทุกครั้งไป จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีใครกล้าสร้างมัสยิดกรือเซะต่อ คงเหลือซากทิ้งไว้ตราบทุกวันนี้ค่ะ







ความคิดเห็น